พระราชบัญญัติ ควบคุมผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนไทยในทุกระดับ ป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานและการดำเนินกิจการการค้าน้ำมัน
พระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดควบคุมผู้ค้าน้ำมันเป็น 3 ระดับ ดังนี้
1.ผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ ซึ่งมีปริมาณการค้าน้ำมันแต่ละชนิดหรือรวมกันทุกชนิด ปีละตั้งแต่ 100,000 เมตริกตันขึ้นไป หรือก๊าซปิโตรเลียมเหลว แต่เพียงชนิดเดียว ปีละตั้งแต่ 50,000 เมตริกตันขึ้นไป จะต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพลังงาน
2.ผู้ค้าน้ำมันรายย่อย ซึ่งมีปริมาณการค้าน้ำมันปีละไม่ถึงตาม (1)ข้างต้นแต่มีปริมาณ การค้าน้ำมันแต่ละชนิดหรือรวมกันทุกชนิดเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดหรือมีถังที่สามารถเก็บน้ำมันเชื้อเพลิง ได้เกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดจะต้องยื่นขอจดทะเบียนต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน
3.ผู้ค้าน้ำมันซึ่งดำเนินกิจการค้าน้ำมันโดยจัดตั้งสถานีบริการ จะต้องยื่นขอจดทะเบียนต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน พระราชบัญญัติยังกำหนดให้ผู้ขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงตามขนาดและปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดต้องแจ้งต่ออธิบดีตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายใน 60 วัน นับแต่วันประกาศดังกล่าวใช้บังคับและให้ผู้ขนส่งน้ำมันนั้นและผู้ค้าน้ำมันข้างต้นมีหน้าที่ ต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปี ในกรณีของผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ให้ดำเนินการจัดทำบัญชีเกี่ยวกับปริมาณของน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรจัดทำแผนปฎิบัติการเกี่ยวกับการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซื้อ กลั่นผลิต หรือจำหน่าย ซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงยื่นปริมาณการค้าประจำปีเพื่อขอความเห็นชอบ ต่ออธิบดีก่อนปีที่จะทำการค้านั้น และสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงไม่เกินร้อยละสามสิบของปริมาณการค้าประจำปี นอกจากนี้กฎหมายยังให้อำนาจอธิบดีกำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งจะทำการจำหน่ายและมาตรการในการตรวจสอบลักษณะและคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวผู้ค้าน้ำมันรายใดจำหน่ายน้ำมันที่มีลักษณะและคุณภาพแตกต่างไปจากที่กำหนดหรือไม่ ปฎิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายหรือเงื่อนไขที่รัฐมนตรีหรืออธิบดีกำหนดจะถูกเพิกถอนใบอนุญาตจำคุกหรือปรับแล้วแต่กรณี
พระราชบัญญัติการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 ( สรุปมาตราสำคัญ )
พระราชบัญญัตินี้มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันหรือระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญหรือความเสียหาย หรืออันตรายที่จะมีผลกระทบต่อบุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์หรือสิ่งแวดล้อมและเพื่อกำหนดมาตรการหรือลักษณะการดำเนินการเกี่ยวกับการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม โดยให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดการเก็บรักษา การขนส่ง การใช้ การจำหน่าย และการบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงกำหนดที่ตั้ง แผนผังและรูปแบบของสถานที่เก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และคลังน้ำมันเชื้อเพลิงกำหนดลักษณะของถังหรือภาชนะที่ใช้ในการบรรจุหรือขนส่ง กำหนดประเภทกิจการควบคุมของการมีน้ำมันเชื้อเพลิงไว้ในครอบครอง สถานีบริการและคลังน้ำมันเชื้อเพลิง และการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับระดับอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นซึ่งได้แก่กิจการที่สามารถประกอบได้ทันทีกิจการที่ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อน และกิจการที่ต้องได้รับใบอนุญาตก่อนนอกจากนี้ กฎหมายได้มีบทบัญญัติที่ให้อำนาจคณะรัฐมนตรีในการอนุมัติให้หน่วยงาน ของรัฐหรือเอกชน รายใดเป็นผู้ดำเนินการในการจัดให้มีคลังน้ำมันเชื้อเพลิง และระบบการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางท่อได้ และบทบัญญัติในเรื่องของการกำหนดรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับการใช้สอยและครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลใดๆ การประกาศกำหนดเขตระบบการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางท่อและการควบคุมตรวจสอบการประกอบกิจการการเก็บรักษาและการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง โดยคำนึงถึงความปลอดภัย และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสภาพเศรษฐกิจและสังคม
พระราชบัญญัติปันส่วนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2483
เป็นกฎหมายที่กำหนดให้แบ่งปันน้ำมันเชื้อเพลิงกัน เพื่อให้มีน้ำมันเชื้อเพลิงใช้กันได้โดยทั่วไปในประเทศ โดยการจัดตั้งคณะกรรมการปันส่วนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ประกาศชนิดของน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะให้มีการปันส่วน ทำการสอบสวนเพื่อทราบปริมาณของน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด กำหนดอัตราปันส่วนน้ำมันเชื้อเพลิง ควบคุมการซื้อขายตลอดทั้งวางระเบียบการอนุญาต ซื้อขายให้เป็นไปตามความประสงค์ของพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัตส่งเสริมกิจการไฟฟ้า พ.ศ. 2484
พระราชบัญญัตินี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมกิจการไฟฟ้า และอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่ประชาชนพระราชบัญญัติได้กำหนดรายละเอียดขั้นตอนในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าในการขึงหรือฝังสายไฟฟ้าไปใต้ เหนือ ตามหรือข้ามและปักหรือตั้งเสาไฟฟ้าลงใน หรือบนพื้นดินของบุคคลใดๆ และเมื่อได้มีการดำเนินการดังกล่าวแล้วห้ามมิให้ผู้ใดถอน ย้าย เปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือกระทำการใดๆ ให้เกิดความเสียหายแก่สายไฟฟ้าหรือเสาไฟฟ้าหรือให้การส่งกระแสไฟฟ้าตามสายไฟฟ้าติดขัดไม่สะดวก
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 28 ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2514
ประกาศ ฯ ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการบรรจุก๊าซ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงน่ากลัว อันตราย โดยให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการขออนุญาต การออกใบอนุญาต ขนาดส่วนบรรจุ วิธีการบรรจุในภาชนะสถานที่บรรจุหรือเก็บ และวิธีการทดสอบและตรวจสอบภาชนะที่ใช้บรรจุ ตลอดจนอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานและบทกำหนดโทษต่อผู้ที่กระทำการฝ่าฝืน
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2515
ประกาศฯ นี้กำหนดให้กิจการเกี่ยวกับการรถไฟ การเดินอากาศ การประปา การชลประทาน การไฟฟ้า การผลิตเพื่อจำหน่ายหรือการจำหน่ายก๊าซโดยระบบเส้นต่อไปยังอาคารต่างๆ เป็นต้น เป็นกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภคซึ่งผู้ประกอบกิจการจะต้องได้รับอนุญาตหรือได้รับสัมปทานจากรัฐมนตรี นอกจากนี้ประกาศ ฯ ดังกล่าวยังกำหนดกิจการอื่นตามที่รัฐมนตรีจะประกาศกำหนดเช่น การประกันภัย การธนาคาร และเครดิตฟองซิเอร์ เป็นต้น เป็นกิจการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินกิจการนั้นๆ
พระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516
พระราชกำหนดนี้ได้ตราขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทวีสูงขึ้นเป็นลำดับและน้ำมันดิบที่จะหาซื้อได้มีปริมาณลดลงทำให้เกิดภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นในประเทศไทย จึงจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขและป้องกันภาวะการณ์ดังกล่าวให้ทันต่อเหตุการณ์ โดยกำหนด ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งเพื่อกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการผลิต การจำหน่าย การสำรองและการส่งออกนอกราชอาณาจักรและการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด การผลิตหรือจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานอื่น การใช้น้ำมัน เชื้อเพลิงพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงาน และการปันส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด
อ้างอิง : กระทรวงพลังงาน http://energy.go.th/2015/lawgeneral/